Header Ads

นักข่าวพรึ่บ! เต็ม กฟผ.แม่เมาะ

 

สื่อมวลชน 17 จังหวัดภาคเหนือเยี่ยมชม กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง แหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญช่วยพยุงราคาค่าไฟในสถานการณ์วิกฤตพลังงาน เจาะลึกภารกิจการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ลงพื้นที่สัมผัสของจริง ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอัจฉริยะ ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน พร้อมเก็บเกี่ยวองค์ความรู้การทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา

เมื่อวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2565 กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เชิญ สื่อมวลชน 17 จังหวัดภาคเหนือศึกษาดูงานภารกิจการดำเนินงานของ กฟผ. แม่เมาะ และโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในภารกิจผลิตไฟฟ้าและความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมของ กฟผ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในการนี้ นายสิงหเดช สุคนธวารินทร์ นายกสมาคมสื่อมวลชนภาคเหนือ นำคณะสื่อมวลชนทั้ง 17 จังหวัดเข้าร่วมกิจกรรม โดยมี นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 พร้อมด้วย นางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ และนางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมต้อนรับ ณ กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับ

ผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะเปิดเผยว่า กฟผ.แม่เมาะมีภารกิจในการผลิตถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเชื้อเพลิงถ่านหินจากเหมืองแม่เมาะมีส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงราคาค่าไฟให้กับประชาชน ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนแม่เมาะไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ เพื่อรองรับแผนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะลดน้อยลงและมีกำหนดปิดเหมืองและโรงไฟฟ้าประมาณปี 2593 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) รวมทั้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนภายหลังการปิดเหมืองและโรงไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยมีแนวทางการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ Smart Energy Smart Economy และ Smart Environment

จากนั้น ผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ ได้นำคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชม โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การศึกษาและทดสอบการนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดย กฟผ.แม่เมาะ ได้รับซื้อซังและเปลือกข้าวโพด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจจากชุมชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ร่วมผลิตไฟฟ้ากับถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 12- 13 ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้ระบบการเผาไหม้ถ่านหินร่วมกับชีวมวลทางการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน ช่วยลดการเผาซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนด้วย

คณะสื่อมวลชน ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) วิสาหกิจชุมชนผลิตฮิวมัสบ้านนาสัก โดย กฟผ.แม่เมาะ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำลีโอนาร์ไดต์หรือฮิวมัสจากชั้นดินปนถ่านหินที่ได้จากการทำเหมืองมาใช้ประโยชน์เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารของพืช ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้และศึกษาเรียนรู้ในการจัดการดิน น้ำ ป่า ตามแนวทางศาสตร์พระราชาอีกด้วย.













ดร.อุดม วราหะ นายกสมาคมนักสื่อสารมวลชนไท(สนท.)มอบของฝากจากกำแพงเพชรให้ อ.สิงหเดช สุคนธวารินทร์ นายกสมาคมสื่อมวลชนภาคเหนือ ในโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาดูงานที่ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ขับเคลื่อนโดย Blogger.